วันที่ปรับปรุงข้อมูล 1 มี.ค. 2567

| 1,737 view

การทำหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์

  1. สามารถขอทำหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ทางไปรษณีย์ได้หรือไม่

ตอบ  ไม่ได้ เพราะหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ต้องมีการบันทึกข้อมูลชีวภาพ อาทิ ลายนิ้วมือ และรูปถ่ายใบหน้า ผู้ร้องจึงต้องมายื่นด้วยตนเองเท่านั้น

  1. ผู้ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านกลางจะไม่สามารถขอทำหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ จะต้องดำเนินการอย่างไร

ตอบ  คนไทยที่เดินทางไปต่างประเทศเป็นเวลานาน เจ้าบ้านอาจแจ้งย้ายบุคคลที่มีชื่อในทะเบียนบ้านของตนเอง แต่ไม่มีตัวตนออกจากทะเบียนบ้าน หรือ เจ้าบ้านซื้อบ้านต่อจากผู้อื่นแล้วย้ายชื่อที่ค้างออกจากทะเบียนบ้าน ทำให้บุคคลที่ถูกย้ายออกจากทะเบียนบ้านต้องไปอยู่ในทะเบียนบ้านกลาง ส่งผลให้ไม่สามารถทำหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์และบัตรประจำตัวประชาชนในต่างประเทศได้ ขอให้ติดต่อสำนักทะเบียนที่เกี่ยวข้อง เพื่อแจ้งย้ายชื่อออกจากทะเบียนบ้านกลางไปเข้าทะเบียน โดยดำเนินการด้วยตนเองหรือมอบอำนาจให้ผู้อื่นดำเนินการแทน

  1. หนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์สามารถต่ออายุได้หรือไม่

ตอบ  ไม่ได้ หนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์มีอายุใช้งาน 5 ปี และ 10 ปี เมื่อหมดอายุแล้วไม่สามารถต่ออายุได้อีก จะต้องทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่

 

คำถามเกี่ยวกับวีซ่า

  1. ทราบว่ามีบางประเทศที่คนไทยไม่ต้องขอวีซ่าในการเดินทางเข้าประเทศของเขา ใช่หรือไม่

ตอบ  ใช่  มีหลายประเทศที่รัฐบาลไทยได้ทำความตกลงเพื่อให้สามารถเดินทางไปมากันสะดวกขึ้น สามารถหารายชื่อประเทศที่คนไทยได้รับการยกเว้นตรวจลงตราได้จากเว็บไซต์กรมการกงสุล www.consular.go.th

  1. คนไทยที่แต่งงานกับคนต่างชาติและต้องการพาคู่สมรสไปอยู่ด้วยกันที่ประเทศไทย มีข้อแนะนำอย่างไร บ้าง

ตอบ  ก่อนอื่น ต้องจดทะเบียนสมรสให้ถูกต้องตามกฎหมาย สามารถเลือกจดตามกฎหมายไทยหรือกฎหมายต่างชาติ นำหลักฐานการจดทะเบียนสมรสไปยื่นขอวีซ่าประเภทคู่สมรส (Non-immigrant “O”) ที่สถานเอกอัครราชทูต คู่สมรสจะสามารถอยู่ในเมืองไทยได้ระยะยาว ครั้งแรกไม่เกิน 90 วัน หลังจากนั้น สามารถขออนุญาตอยู่ต่อที่สำนักงาน ต.ม. ทุกแห่ง ครั้งละไม่เกิน 1 ปี

  1. หากคนต่างชาติเข้ามาอยู่ในเมืองไทยแล้วสถานะเปลี่ยนไป เช่น แต่งงานกับคนไทย หรือเปลี่ยนจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างอื่น ต้องติดต่อกับสำนักงาน ต.ม. ใช่หรือไม่

ตอบ  ใช่ โดย ต.ม. จะพิจารณาตามเอกสารและความจำเป็น บางกรณีอาจต้องเดินทางกลับประเทศของตนเพื่อขอวีซ่าที่ถูกต้องและค่อยเดินทางกลับเข้ามาใหม่

 

การรับรองเอกสาร

  1. สถานเอกอัครราชทูตฯ มีอำนาจการรับรองเอกสารกี่ประเภท

ตอบ  ตามระเบียบกระทรวงการต่างประเทศ พ.ศ. 2539 สถานเอกอัครราชทูตฯ มีอำนาจการรับรอง 3 ประเภท คือ

การรับรองคำแปล การรับรองสำเนาถูกต้อง (เฉพาะเอกสารที่ออกโดยหน่วยงานราชการไทย) และการรับรองลายมือชื่อ (บุคคลสัญชาติไทย)

  1. การรับรองลายมือชื่อจะต้องดำเนินการอย่างไร

ตอบ  การรับรองลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจและยินยอม ผู้ร้องจำเป็นต้องลงนามต่อหน้าเจ้าหน้าที่เท่านั้น

  1. หนังสือมอบอำนาจมีการกำหนดระยะเวลาหรือไม่

ตอบ  ถ้าไม่มีการระบุระยะเวลาไว้อย่างชัดแจ้ง หนังสือมอบอำนาจก็ไม่มีกำหนดระยะเวลา

 

การคุ้มครองและช่วยเหลือคนไทยในต่างประเทศ

  1. ถ้าตกทุกข์ได้ยากในต่างประเทศ ควรขอความช่วยเหลืออย่างไร

ตอบ  การขอความช่วยเหลือสามารถทำได้หลายวิธี ได้แก่ ติดต่อให้ญาติ พี่น้อง ในประเทศไทยไปติดต่อกองคุ้มครองฯ กรมการกงสุล (หมายเลขโทรศัพท์ 02 2575 1047 – 51) โดยควรไปติดต่อด้วยตนเองเพื่อจะสามารถให้ข้อมูลและหลักฐานประกอบได้อย่างสมบูรณ์ หรือผู้ตกทุกข์ได้ยากสามารถติดต่อกับสถานเอกอัครราชทูตฯ เพื่อขอความช่วยเหลือได้โดยตรง ควรเตรียมหลักฐานให้ครบถ้วน เช่น บัตรประจำตัวประชาชน หรือหนังสือเดินทางของผู้ตกทุกข์ได้ยาก

  1. หากมีค่าใช้จ่ายจะต้องรับผิดชอบหรือไม่ เพียงใด

ตอบ  เป็นหลักปฏิบัติสากล ผู้ที่เดินทางไปต่างประเทศจะต้องรับผิดชอบตัวเองเป็นอันดับแรก อย่างไรก็ดี กรณีไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ รวมทั้งญาติ พี่น้อง ในประเทศไทยมีฐานะยากจน ไม่สามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่ายได้ รัฐบาลมีแนวปฏิบัติที่จะทดรองจ่ายค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นไปก่อน โดยญาติพี่น้อง หรือตัวผู้ตกทุกข์ได้ยากจะต้องทำหนังสือสัญญารับรองการชดใช้เงินคืนไว้กับทางราชการ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ในระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือคนไทยในต่างประเทศ พ.ศ. 2562 ทั้งนี้ ไม่รวมค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการฟ้องร้องทางแพ่ง เช่น การจ้างทนายความ หรือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการดำเนินคดี

  1. หากคนไทยซึ่งอาศัยอยู่ในต่างประเทศถูกจับและไม่มีค่าใช้จ่ายในการประกันตัว สถานเอกอัครราชทูตฯ สามารถสำรองจ่ายได้หรือไม่

ตอบ  ไม่ได้ การสำรองจ่ายเงินเพื่อช่วยเหลือคนไทยจะต้องเป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลัง กรณีต้องโทษในทางอาญา ได้ระบุการสำรองจ่ายเงินเพื่อช่วยเหลือคนไทยไว้ 2 ประการ คือ ค่าของเยี่ยมและค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดอื่น ๆ ซึ่งตามระเบียบมิได้กำหนดให้มีการสำรองจ่ายเงินเพื่อใช้ในการประกันตัว

 

ปัญหาเกี่ยวกับสัญชาติ

  1. การเปลี่ยนนามสกุลในทะเบียนบ้านที่ประเทศไทยเนื่องจากการสมรสที่ต่างประเทศจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง

ตอบ  นำใบทะเบียนสมรสต้นฉบับที่ออกโดยหน่วยงานท้องถิ่นของประเทศนั้นไปให้กระทรวงการต่างประเทศของประเทศนั้น รับรองลายมือชื่อผู้ลงนามในใบทะเบียนสมรส และนำใบทะเบียนสมรสดังกล่าวไปแปลเป็นภาษาไทย ก่อนส่งมาให้สถานเอกอัครราชทูตฯ รับรอง หลังจากนั้น ต้องนำเอกสารสารทั้งหมดที่ผ่านการรับรองจากสถานเอกอัครราชทูตฯ ไปให้กองสัญชาติฯ กรมการกงสุล ที่กรุงเทพฯ รับรองอีกที ก่อนนำไปยื่นขอเปลี่ยนนามสกุลในทะเบียนบ้านที่ประเทศไทย

  1. หากสามี/ภรรยาได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายท้องถิ่นในต่างประเทศแล้ว จำเป็นต้องจดทะเบียนสมรสไทยอีกหรือไม่

ตอบ  ไม่ต้องจดทะเบียนสมรสไทยอีก เพราะจะเป็นการจดทะเบียนสมรสซ้ำ