สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี แก่สุดยอดครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงแก่ชีวิตศิษย์และมีคุณูปการต่อวงการศึกษา 11 ประเทศในอาเซียนและติมอร์- เลสเต
เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นประธานพิธีมอบรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี รางวัลพระราชทานระดับนานาชาติเพื่อเชิดชูเกียรติครูดีเด่นในอาเซียนและติมอร์-เลสเต 11 ประเทศ และเพื่อเทิดพระเกียรติเจ้าฟ้านักการศึกษา ผู้ทรงพระปรีชาและทรงมีคุณูปการต่อการศึกษาทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ดำเนินการโดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ร่วมกับคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) และหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง พร้อมกันนี้ทรงร่วมฟังปาฐกฐาพิเศษ โดยดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน ในหัวข้อ “Education as an Integration Tool for ASEAN Community”
ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กล่าวว่า ครูผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี มาจากการคัดเลือกของกระทรวงศึกษาธิการในอาเซียนและติมอร์-เลสเต ทั้ง 11 ประเทศ โดยมีคุณสมบัติเป็นครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงแก่ชีวิตของลูกศิษย์และมีคุณูปการต่อวงการศึกษา ประเทศละ 1 คน ซึ่งจะมีการคัดเลือกสุดยอดครู 2 ปีครั้ง โดยปีนี้เป็นปีแรกของการพระราชทานรางวัล ประกอบด้วย เหรียญรางวัล ประกาศนียบัตร โล่ เข็มเชิดชูเกียรติทองคำ และเงินรางวัล รางวัลละ 10,000 เหรียญสหรัฐ
ดร.กฤษณพงษ์ กล่าวว่า สำหรับครูผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี 11 ประเทศในอาเซียนและติมอร์-เลสเต พบว่า มีการจัดการเรียนรู้ที่น่าสนใจโดยยึดนักเรียนเป็นศูนย์กลาง ครูและศิษย์มีปฏิสัมพันธ์ที่ดี พร้อมกับมีภาคีเครือข่ายร่วมสนับสนุนการจัดการเรียนการสอน เช่น ผู้ปกครอง ชุมชน เพื่อนครู และความร่วมมือจากหน่วยงานภาคนโยบาย เป็นต้น โดยมีประวัติที่น่าสนใจของครูแต่ละประเทศดังนี้
-
บรูไนดารุสซาลาม : มาดาม ฮาจา รัตนาวาติ บินติ ฮาจิ โมฮัมมัด ครูการศึกษาพิเศษโรงเรียนประถมKeriam Primary School วัย 48 ปีผู้ริเริ่มการนำนวัตกรรมมาสอนเด็กพิการเรียนร่วมในรูปแบบต่างๆ โดยชักชวนผู้ปกครองและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมจนได้รับรางวัลครูดีเลิศจากสุลต่านแห่งบรูไน
-
กัมพูชา: นางสาวทอช บันดาว ครูสอนภาษาอังกฤษระดับประถมศึกษาใน Wat-Bo Primary School วัย 38 ปี นับเป็นครูที่เน้นการสอนโดยใช้นักเรียนเป็นศูนย์กลางผ่านเทคนิคสร้างแรงจูงใจผู้เรียน ให้ความสำคัญกับเด็กเรียนรู้ช้าโดยการสร้างเครื่องมือช่วยสอนจนได้รับรางวัลชนะเลิศครูที่มีความโดดเด่นในระดับชาติ
-
อินโดนีเซีย: นายเฮอร์วิน ฮามิด ครูสอนวิทยาศาสตร์และหัวหน้าห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ โรงเรียน Junior High School Kendari วัย 33 ปี ผู้มีผลงานโดดเด่นโดยการประยุกต์ใช้ Smart Phone เพื่อการศึกษา และพัฒนาสื่อการเรียนการสอนวิชาฟิสิกส์จนได้รับรางวัลด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อส่งเสริมการศึกษาในภูมิภาค
-
สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว: นางคำซ้อย วงสำพัน ครูสอนวิชาภาษาฝรั่งเศส ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ รัฐศาสตร์ ที่โรงเรียนมัธยมเวียงจันทน์ วัย 61 ปี เน้นพัฒนานักเรียนที่มีผลการเรียนต่ำให้มีทักษะและมีคุณภาพโดยเน้นการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองร่วมปรับปรุงผลการเรียนรู้
-
มาเลเซีย: นายไซนุดดิน ซาคาเรีย ครูสอนเทคโนโลยีสารสนเทศ โรงเรียนมัธยม Taman Bukit Maluri วัย 50 ปี ผู้พัฒนาหลักสูตร ICT ของกระทรวงศึกษาธิการมาเลเซีย และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ฝึกสอนระดับชาติในการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อเทคโนโลยีและการสื่อสาร
-
สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา: นางสาวยี มอน โซ ครูระดับอาวุโส โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนหล่าย ทาร์ ยา ย่างกุ้ง ครูวัย 34 ปีผู้ใส่ใจทั้งการสอนศาสตร์ความรู้และทักษะการดำรงชีวิตให้แก่ผู้เรียน
-
สาธารณรัฐฟิลิปปินส์: นายวิลเลียม โมราคา ครูใหญ่ Klolang Elementary School วัย 46 ปี นักจัดการชั้นเรียนสมัยใหม่ให้แก่โรงเรียนประถมและเป็นนักพัฒนานวัตกรรมผลิตสื่อการสอนต้นทุนต่ำแก่พื้นที่ชนบทห่างไกล
-
สาธารณรัฐสิงคโปร์: นางหวัง ลิม ไอ่ เหลียน ครูใหญ่โรงเรียนประถม Holy Innocents’ Primary School วัย 42 ปี ผู้สอนวิชาภาษาอังกฤษและคณิตศาสตร์ ผู้เน้นการสอนนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษโดยเฉพาะกลุ่มเรียนรู้ช้า ผู้ริเริ่มโครงการนำร่องด้วยการใช้ดนตรีบำบัดเพื่อสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ของผู้เรียน และพัฒนาหลักสูตรเฉพาะสำหรับนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ
-
ติมอร์-เลสเต: นายจูลีโอ ไซเมน มาเดียรา ครูสอนในโรงเรียนระดับประถมและมัธยม วัย 47 ปี ผู้สร้างบรรยากาศการเรียนรู้และสามารถดึงพลังการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นเข้าร่วมจัดการเรียนรู้
-
เวียดนาม: นางทราน ติ ตวย ดุง ครูใหญ่และครูสอนวิชาภาษาอังกฤษระดับประถมศึกษา ที่Le Ngoc Han Primary School วัย 38 ปี ผู้ริเริ่มทำให้เกิดต้นแบบโรงเรียนประถมรูปแบบใหม่ หรือ “เวียดนามนิวสคูลโมเดล” เผยแพร่ไปยังโรงเรียนประถมศึกษามากกว่า 3,000 แห่ง ผ่านระบบการจัดการที่มีความยืดหยุ่น เน้นทักษะชีวิต สร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ในชั้นเรียน และจัดชั้นเรียนแบบมีปฏิสัมพันธ์ ทำให้เกิดรูปแบบการเรียนการสอนที่ทันสมัย
-
ประเทศไทย: นายเฉลิมพร พงศ์ธีระวรรณ ครูเชี่ยวชาญกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ โรงเรียนสุราษฎร์พิทยา อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี วัย 58 ปี มีความเชี่ยวชาญด้านออกแบบการเรียนรู้ โดยฝึกเด็กในเรื่องทักษะกระบวนการคิดวิเคราะห์ และการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ผ่านโครงงานที่สร้างประโยชน์คืนกลับชุมชน โดยโครงงานที่สร้างชื่อเสียง อาทิ การทำไบโอพลาสติกจากเกล็ดปลา จนนักเรียนได้รับรางวัลในระดับนานาชาติและทำให้ชื่อลูกศิษย์ 3 คน ถูกนำไปตั้งชื่อเป็นดาวเคราะห์น้อย