สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงดิลี ร่วมกับกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ จัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟของติมอร์ฯ ที่โครงการ Quinta Portugal จังหวัด Aileu ระหว่างวันที่ ๒๔ - ๒๕ มิถุนายน และที่บริษัท Timor Global จังหวัด Ermera ระหว่างวันที่ ๒๖ - ๒๗ มิถุนายน ๒๕๖๘ เพื่อให้เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟท้องถิ่นสามารถเข้าร่วมได้อย่างทั่วถึงและได้รับประโยชน์สูงสุด ซึ่งได้รับการ ตอบรับเป็นอย่างดี โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า ๘๐ คน ประกอบด้วย เกษตรกร และผู้เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมกาแฟติมอร์ฯ
กิจกรรมนี้ได้รับการสนับสนุนจากสมาคมกาแฟติมอร์ (Association Café Timor: ACT) โครงการ Quinta Portugal ภายใต้กระทรวงการต่างประเทศโปรตุเกสและบริษัท Timor Global โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมกาแฟพิเศษไทย (SCATH) จำนวน ๔ คน เป็นวิทยากรถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ของไทย ครอบคลุมหัวข้อต่าง ๆ อย่างครบวงจร ตั้งแต่การบริหารจัดการแปลงกาแฟ การวิเคราะห์คุณภาพดิน การทำปุ๋ยอินทรีย์จากจุลินทรีย์ในท้องถิ่น การควบคุมศัตรูพืช จนถึงเทคนิคการแปรรูปกาแฟ โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มผลผลิตและยกระดับคุณภาพกาแฟ พร้อมทั้งรักษาอัตลักษณ์กาแฟอินทรีย์ของติมอร์ฯ
นางสาววรัญญา ฉันทพันธุ์ ที่ปรึกษาและผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตฯ กล่าวในพิธีเปิดการฝึกอบรมว่า ประเทศไทยเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาของติมอร์ฯ มายาวนาน และยินดีที่ได้มีบทบาทส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟ ซึ่งมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของชาวติมอร์ฯ โดยไทยในฐานะประเทศผู้ปลูกกาแฟมีศักยภาพในการแบ่งปันองค์ความรู้ด้านการปลูกและบริหารจัดการสวนกาแฟ ซึ่งเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟติมอร์ฯ สามารถนำไปใช้ได้จริง
.
การฝึกอบรมครั้งนี้เปิดโอกาสให้เกษตรกรและผู้เชี่ยวชาญด้านกาแฟจากไทยและติมอร์ฯ ได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างกัน ซึ่งผู้เข้าร่วมชื่นชมการเรียนรู้ทักษะเชิงปฏิบัติที่สามารถนำไปใช้จริง และเป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมความยั่งยืนและยกระดับคุณภาพของอุตสาหกรรมกาแฟในติมอร์ฯ อีกทั้งยังได้แรงบันดาลใจจากประสบการณ์ของนายวิชัย กำเนิดมงคล หนึ่งในวิทยากรที่ใช้ความรู้ควบคู่กับความมุ่งมั่นพัฒนาตนเองจนประสบความสำเร็จในฐานะเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ
โครงการดังกล่าวสะท้อนความมุ่งมั่นของไทยในการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของติมอร์ฯ ให้มีความหลากหลาย ยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผ่านความร่วมมือทางวิชาการที่มุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ อีกทั้งช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนและการขยายเครือข่ายภาคเอกชนระหว่างสองประเทศ ซึ่งถือเป็นการต่อยอดจากการนำคณะผู้แทนจากอุตสาหกรรมกาแฟของติมอร์ฯ เดินทางไปศึกษาดูงานด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟที่ประเทศไทยเมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๗ ซึ่งทั้งสองฝ่ายมุ่งหวังที่จะสานต่อความร่วมมือระยะยาว เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟของติมอร์ฯ และยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและชุมชนในท้องถิ่น
* * * * * * *