พิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕

พิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕

วันที่นำเข้าข้อมูล 3 พ.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 3 พ.ย. 2565

| 382 view

เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๖๕ เวลา ๑๖.๐๐ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ในพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ณ พระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ พร้อมทั้งพระราชทานเลี้ยงน้ำชา เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลฯ ณ พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร

สำหรับผู้ที่ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ กลุ่มพยาบาลจากรัฐอิสราเอล ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร. นูริท เวกเนอร์ (Professor Dr. Nurith WAGNER) และศาสตราจารย์ ดร. มิเรียม เฮิร์ชเฟลด์ (Professor Dr. Miriam Judith HIRSCHFELD) โดยผลงานด้านการพยาบาลของผู้ได้รับพระราชทานรางวัลฯ ทั้งสองท่านมีความโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ในระดับนานาชาติในเรื่องสิทธิมนุษยชนและจริยธรรมทางวิชาชีพการพยาบาลและผดุงครรภ์ ใช้ประเด็นทางสุขภาพเป็นสะพานเชื่อมระหว่างรัฐอิสราเอลและปาเลสไตน์ไปสู่สันติภาพ

ศาสตราจารย์ ดร.นูริท เวกเนอร์ เป็นผู้นำระดับชาติและนานาชาติ ในเรื่องจริยศาสตร์ทางการพยาบาล สิทธิของผู้พิการ และสิทธิมนุษยชน เริ่มจากการพัฒนาเกมส์การตัดสินใจเชิงจริยธรรม เพื่อใช้สอนในโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วรัฐอิสราเอล และต่อมาได้มีส่วนในการกำหนดนโยบายต่าง ๆ เช่น การผลักดันให้เกิดกฎหมายเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิต นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ ดร. เวกเนอร์ ยังเป็นผู้ก่อตั้งศูนย์จริยธรรมในสมาคมพยาบาลอิสราเอลและปัจจุบันทำหน้าที่เป็นนายกสมาคมฯ ส่งเสริมประสิทธิภาพในการดูแลและปกป้องสิทธิของผู้ป่วยชาวอิสราเอล รวมทั้งชาวปาเลสไตน์และครอบครัว ด้วยความเห็นอกเห็นใจ

ศาสตราจารย์ ดร. มิเรียม เฮิร์ชเฟลด์ เป็นผู้นำทางด้านการพยาบาลข้ามวัฒนธรรม สิทธิมนุษยชน และการดูแลผู้ป่วยระยะยาว เป็นผู้ประสานงานสถานพยาบาลดูแลผู้สูงอายุระยะยาวของมูลนิธิอิสราเอล และได้ทำงานร่วมกับ ดร.เวกเนอร์ และผู้เชี่ยวชาญจากประเทศต่าง ๆ ในการวิจัยประเด็นปัญหาเชิงจริยธรรมที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่มีความจำเสื่อม ร่วมกับสภาการพยาบาลระหว่างประเทศในการออกนโยบายที่สำคัญคือ Resolution 45.5 เกี่ยวกับการสร้างความเข้มแข็งให้กับวิชาชีพการพยาบาลและผดุงครรภ์

ศาสตราจารย์ ดร. เวกเนอร์ ศาสตราจารย์ ดร. เฮิร์ชเฟลด์ ได้มุ่งมั่นอุทิศทำงานร่วมกันมานานกว่า ๕๐ ปีจนกระทั่งปัจจุบัน เพื่อช่วยปกป้องสิทธิมนุษยชน ให้เกิดความเป็นธรรมกับคนที่อ่อนแอในสังคมให้มีโอกาสเข้าถึงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าตามสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ และยังช่วยเหลือประสานความร่วมมือในการส่งเสริมจริยธรรม ความรู้ และความเข้าใจซึ่งกันและกันของพยาบาลอิสราเอลและปาเลสไตน์

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ