วันที่ปรับปรุงข้อมูล 6 มี.ค. 2567

| 45,688 view

ข้อมูลทั่วไปของติมอร์-เลสเต

 

ชื่อทางการ:                  สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต (Democratic Republic of Timor-Leste) 

เมืองหลวง:                   กรุงดิลี (Dili)

สภาพภูมิศาสตร์:            มีพื้นที่ 14,609 ตาราง กม. (ประมาณจังหวัดอุบลราชธานี) 

ภาษา:                         ภาษาเตตุม และภาษาโปรตุเกสเป็นภาษาราชการ ภาษาอังกฤษและภาษาบาฮาซาอินโดนีเซีย เป็นภาษาใช้งานได้ทั่วไป

ประชากร:                    ประมาณ 1.3 ล้านคน 

ศาสนา:                        คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก (ร้อยละ 91.4) คริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ (ร้อยละ 2.6) อิสลาม (ร้อยละ 1.7) ที่เหลือนับถือฮินดู พุทธ และภูตผี

วันชาติ:                        20 พฤษภาคม (วันฟื้นฟูเอกราช)

วันสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย:  20 พฤษภาคม 2545

การเมือง:                     ติมอร์-เลสเต ปกครองในระบอบประชาธิปไตยมีประธานาธิบดีเป็นประมุข ดำรงตำแหน่งวาระละ 5 ปี ได้รับเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรง นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าคณะรัฐบาล รัฐสภาแห่งชาติของติมอร์ฯ ประกอบด้วยสมาชิก จำนวน 65 คน ดำรงตำแหน่งสมัยละ 5 ปี

ประธานาธิบดี:                Mr. Jose Ramos-Horta  (สาบานตนเข้ารับตำแหน่งเมื่อ 20 พ.ค. 2565)

นายกรัฐมนตรี:               Mr. Kay Rala Xanana Gusmão (สาบานตนเข้ารับตำแหน่งเมื่อ 1 ก.ค. 2566)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือ:        Mr. Bendito dos Santos Freitas

GDP:                          2.02 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ค.ศ. 2023)

GDP per Capita:        1,500 ดอลลาร์สหรัฐ (ค.ศ. 2023)

ทรัพยากรที่สำคัญ:         น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ

สินค้าส่งออกที่สำคัญ:      น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ กาแฟ

การศึกษา:                    ระดับประถมศึกษาใช้เวลาในการศึกษา 6 ปี และระดับมัธยมศึกษาใช้เวลาในการศึกษา 6 ปี ระดับอุดมศึกษาใช้เวลาในการศึกษา 4 ปี

เวลา:                           เวลาที่ติมอร์ฯ เร็วกว่าที่ประเทศไทย 2 ชั่วโมง

เงินตรา:                       ติมอร์ฯ ใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ โดยใช้ธนบัตรดอลลาร์สหรัฐและเงินเหรียญท้องถิ่นที่เรียกว่า Centavos โดยมีชนิดของเหรียญ คือ 1 5 10 25 และ 50 เซนต์ (100 เซนต์เท่ากับ 1 ดอลลาร์สหรัฐ) นักท่องเที่ยวควรใช้เหรียญเหล่านี้ให้หมดก่อนเดินทางกลับ เนื่องจากไม่สามารถแลกเปลี่ยนเงินเหรียญเหล่านี้เป็นเงินบาทที่ไทยได้  ทั้งนี้ ควรแลกเงินดอลลาร์สหรัฐที่ไทยให้เรียบร้อย ก่อนเดินทางมาติมอร์ฯ เนื่องจาก ไม่มีเคาเตอร์รับแลกเงินทั้งในสนามบินและในกรุงดิลี

การซื้อสินค้ายกเว้นภาษี:   สินค้ายกเว้นภาษีมีบริการสำหรับนักท่องเที่ยวที่สนามบินเพียงแห่งเดียว

ธนาคาร:                       เปิดทำการวันจันทร์-วันศุกร์ เวลาทำการระหว่าง 09.00 -16.00 น. ปัจจุบันมีธนาคารพาณิชย์เปิดบริการในกรุงดิลีจำนวน 5 ธนาคาร ได้แก่ (1) ธนาคาร Mandiri (อินโดนีเซีย) (2) ธนาคาร Australian and New Zealand Banking Group Limited : ANZ (ออสเตรเลีย) (3) ธนาคาร Banco Nacional Ultramariano : BNU (โปรตุเกส) (4) Bank Republic Indonesia : BRI (อินโดนีเซีย) และ (5) ธนาคารแห่งชาติติมอร์ฯ Banco National de Commercio de Timor-Leste (BNCTL )

โทรศัพท์:                      รหัสประเทศติมอร์ฯ 670 ที่ติมอร์ฯ ไม่มีโทรศัพท์สาธารณะ ส่วนใหญ่ใช้โทรศัพท์มือถือแบบบัตรเติมเงิน ซึ่งมีบัตรราคา 5, 10, 15, 25, 50 ดอลลาร์สหรัฐ บัตรโทรศัพท์มีขายทั่วไปตามมุมถนนต่างๆและหน้าโรงแรม โทรศัพท์มือถือที่นำไปจากประเทศไทยสามารถซื้อซิมการ์ดเปลี่ยนเพื่อใช้งานในติมอร์ฯ ได้ในราคา 1 ดอลลาร์สหรัฐ และซื้อแพคเกจสำหรับโทรและ internet

ขนส่งมวลชน:                    การคมนาคมในติมอร์ฯยังไม่สะดวก เนื่องจากรัฐยังไม่ได้เข้ามาจัดระบบขนส่งมวลชนอย่างจริงจัง ประชาชนทั่วไปในกรุงดิลีเดินทางด้วยการเดินเท้า รถจักรยานยนต์ และรถโดยสารเล็ก หรือ Mikrolet บริการรับส่งผู้โดยสารในกรุงดิลีเป็นรถของเอกชน เก็บค่าโดยสารคนละ 20-25 เซนต์ นักเรียนเก็บ 15 เซนต์

                                      - การเดินทางระหว่างจังหวัด ที่กรุงดิลีมีรถประจำทางรับส่งผู้โดยสารไปต่างจังหวัดที่ท่ารถ Hali-Laran; Comoro; และ Becora อัตราค่าโดยสารขึ้นกับระยะทาง

                                      - รถแท็กซี่ มีบริการในกรุงดิลีตั้งแต่เวลา 07.00 น. - 18.00 น.อัตราค่าโดยสารเริ่มต้น 2 ดอลลาร์สหรัฐ แต่หากระยะทางไกลอาจเพิ่มเป็น 5 ดอลลาร์สหรัฐ

                                      - สนามบินประธานาธิบดีนิโคเลา โลบาโต (Presidente Nicholau Lobato International Airport) ตั้งอยู่ในกรุงดิลีห่างจากตัวเมือง 5 กม.

ช่วงเวลาเดินทางมาติมอร์ฯ ที่เหมาะสม :  ติมอร์ฯ มี 2 ฤดูกาล คือ ฤดูฝน (ธันวาคม - พฤษภาคม) และฤดูร้อน (มิถุนายน - พฤศจิกายน) ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเดินทางมาติมอร์ฯ คือ ช่วงฤดูร้อน เนื่องจากเป็นฤดูท่องเที่ยว  ในช่วงฤดูฝน หากมีฝนตกหนัก/พายุฝน อาจเป็นอุปสรรคต่อการเดินทางโดยรถยนต์ เนื่องจากถนน/สะพานอาจชำรุด เสียหายจากน้ำท่วม และดินภูเขาถล่ม

การเดินทางมาติมอร์ฯ :   ไม่มีเที่ยวบินตรง (direct flight) ระหว่างไทยกับติมอร์ฯ เส้นทางบินที่สะดวกที่สุด คือ กทม.-เดนปาซาร์(บาหลี)-ดิลี  โดยสายการบินไทยมีเที่ยวบินมาเดนปาซาร์ทุกวัน โดยพักค้างคืนที่เดนปาซาร์ 1 คืนเพื่อต่อเครื่องในเช้าวันรุ่งขึ้นมากรุงดิลีด้วยสายการบิน  CITI LINK, AERO DILI ส่วนอีกเส้นทางที่มากรุงดิลีได้ คือ กทม.-สิงคโปร์-ดิลี โดยการเดินทางจากสิงคโปร์มาดิลี สามารถใช้บริการสายการบิน Aero Dili ปัจจุบันมี 1 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ กรุงดิลี - สิงคโปร์ ทุกวันเสาร์ และสิงคโปร์ - กรุงดิลี ทุกวันอาทิตย์ (สถานะ 1 มี.ค. 67) 

การเข้าเมืองของติมอร์ฯ :

                     - ผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและราชการไม่ต้องขอวีซ่า

                  - ผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาสามารถขอวีซ่าได้ที่ท่าอากาศยานกรุงดิลี (Visa on Arrival) พำนักได้ครั้งละ 30 วัน ค่าธรรมเนียม 30 ดอลลาร์สหรัฐ

                  - หนังสือเดินทางต้องมีอายุใช้งานไม่น้อยกว่า 6 เดือน

- ผู้ที่มีความประสงค์จะพำนักอยู่ในติมอร์ฯ เกินกว่าระยะเวลา 30 วันที่ ได้รับอนุญาตตามวีซ่าเข้าเมืองสามารถติดต่อยื่นขอต่อวีซ่าได้ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงมหาดไทย ซึ่งตั้งอยู่ที่ Vila Verde

- สำหรับผู้ที่มีความประสงค์จะขอวีซ่าทำงาน(Work Visa) จะต้องแสดงหลักฐานสถานที่ทำงานเมื่อเดินทางเข้าประเทศ พร้อมทั้งหลักฐานการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมและสุขภาพจากประเทศไทย  นักธุรกิจต่างชาติสามารถสมัครขอ Resident Visa ได้โดยต้องแสดงหลักฐานการจดทะเบียนบริษัท
 

การพำนักในประเทศติมอร์ฯ มีข้อควรปฏิบัติ คือ

-ถ่ายสำเนาหนังสือเดินทาง บัตรประจำตัวประชาชน ตั๋วเดินทางเก็บไว้ที่ตัวเพื่อใช้เป็นหลักฐานหากหนังสือเดินทางหาย

-ผู้ที่เดินทางมาทำงานต้องติดต่อขอหลักฐานการตรวจสอบประวัติจากอาชญากรรมจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาด้วย เพื่อทำเรื่องขอวีซ่าทำงาน

-ผู้ที่เดินทางเข้าไปทำงานหรือพำนักอยู่ในติมอร์ฯ เป็นระยะเวลานาน ควรรายงานตัวต่อสถานเอกอัครราชทูตฯ พร้อมกับแจ้งหมายเลขโทรศัพท์และหนังสือเดินทางไว้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการติดต่อให้ความช่วยเหลือกรณีฉุกเฉิน
 

ข้อพึงระวัง

-โรคระบาดที่แพร่เชื้อโดยยุงเช่นมาเลเรีย และไข้เลือดออก มีอยู่ชุกชุมในช่วงฤดูฝนระหว่างเดือนธันวาคม-เมษายน ไม่ควรนอนตากยุง และควรสวมเสื้อแขนยาวให้รัดกุมในเวลาเย็นและค่ำ

-กฎหมายติมอร์ฯ มีบทลงโทษหนักสำหรับความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด

-ชาวต่างชาติที่เข้าไปแทรกแซงกระบวนการทางการเมืองของติมอร์ฯ อาจมีโทษปรับ กักขังและส่งตัวออกนอกประเทศ

-การนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาในติมอร์ฯ  สามารถนำเข้าเงินตราต่างประเทศมูลค่าไม่เกิน 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ ถ้ามีมูลค่าเกิน 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ จะต้องขออนุญาตจากธนาคารกลางของติมอร์ฯ ก่อน

 

สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณีของชาวติมอร์ฯ

การแต่งกาย:
ชาวติมอร์ฯ แต่งกายง่ายๆ และมีรสนิยมอนุรักษ์นิยม เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาธอลิก การแต่งกายมาตรฐานสำหรับผู้ชายติมอร์ฯ ในสถานที่ทำงานและงานเลี้ยงต่างๆ นิยมสวมเสื้อเชิ้ตแขนสั้นหรือแขนยาว และกางเกงขายาว ไม่นิยมการผูกเน็กไท (งานพิธีการทั่วไปไม่นิยมสวมแจ็กเก็ตทับ) สำหรับการแต่งกายลำลองนิยมสวมกางเกงขายาวและเสื้อยืด

ผู้หญิงติมอร์ฯ แต่งกายมิดชิดในที่สาธารณะและสถานที่ทำงาน นิยมใช้เสื้อผ้าสีเรียบๆ และวัยรุ่นติมอร์ฯ นิยมสวมกางเกงยีนขายาว และเสื้อยืด

ผู้ชายติมอร์นิยมไว้ผมสั้น ในขณะที่ผู้หญิงติมอร์ฯ ไม่นิยมการดัดผม

ศาสนา วัฒนธรรมประเพณี:
ชาวติมอร์ฯส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันแคทอลิก ดังนั้นวันอาทิตย์จะเป็นวันสำหรับครอบครัวและไปโบสถ์ วันหยุดทางศาสนาทุกวันเป็นวันสำคัญที่ชาวติมอร์ฯ มักมีส่วนร่วมจริงจังทั่วประเทศ โดยเฉพาะเทศกาลอีสเตอร์นั้น เป็นเทศกาลที่ประชาชนทั่วประเทศมักจะถือศีลอด ไม่ทานเนื้อทุกวันศุกร์ ช่วงประมาณ 40 วันก่อนวันอีสเตอร์ และในวันอีสเตอร์นั้นในกรุงดิลีจะมีการเดินพาเหรด โดยนักบวชอาวุโสจะนำขบวนชาวบ้านเดินจากโบสถ์โมตาเอลไปยังอนุสาวรีย์พระแม่มา รีที่เลซิเดเร่ วันสำคัญทางศาสนาอื่นๆได้แก่ วัน Assumption Day (15 สิงหาคม) วัน Immaculate Conception Day (8 ธันวาคม)

งานแต่งงานเป็นงานสำคัญสำหรับชาวติมอร์ฯ มีพิธีทางศาสนาในโบสถ์ แล้วฉลองด้วยการกินและดื่ม นิยมเต้นรำในงานแต่งงาน

งานศพเป็นงานที่สำคัญมากในวัฒนธรรมของติมอร์ฯ เมื่อมีคนตาย ญาติพี่น้องไม่ว่าจะอยู่แห่งหนใดจะต้องไปร่วมงานศพ ในงานศพคืนแรกหลังจากที่เสียชีวิตนั้นญาติพี่น้องทุกคนจะนั่งเฝ้าศพทั้งคืน โดยทั่วไปจะไม่ยอมนอนกันในคืนนั้น และมีการเลี้ยงอาหารตอนเที่ยงคืน บ้านที่มีงานศพนั้นสังเกตได้ง่าย โดยจะเห็นมีคนมามุงเต็มบ้าน และคนล้นออกมาถึงท้องถนน ชาวติมอร์ฯ จะขับรถผ่านบริเวณนั้นช้าๆ และไม่กดแตรรถขอทางคนที่ยืนขวางอยู่บนถนน เพราะถือเป็นการหยาบคาย ญาติใกล้ชิดของผู้ตายจะติดแถบดำไว้ทุกข์ให้ผู้ตายเป็นเวลา 12 เดือนโดยในช่วงนี้จะต้องไม่ไปร่วมงานเต้นรำ และเมื่อครบกำหนดไว้ทุกข์ก็จะมีงานฉลองถอดแถบดำไว้ทุกข์

การสนทนาและปฏิบัติตัวเมื่อพบกับคนท้องถิ่น:
การไปเยี่ยมคนท้องถิ่นที่บ้านนั้น เมื่อเข้าไปในบ้านควรทุกทายกับทุกคนที่อยู่ในบ้านนั้น โดยเฉพาะคนสูงอายุควรแสดงความสุภาพเป็นพิเศษ

การทักทายสำหรับเพศเดียวกันนิยมการสัมผัสมือ แต่การสัมผัสไม่รุนแรงนิยมการจับมืออย่างนุ่มนวลมากกว่าการจับมือกระชับ บางคนอาจมีนิสัยในการจับมือแล้วเอามือข้างที่จับมือกับเราไปแตะที่หน้าอก เป็นการแสดงความรู้สึกว่าทักทายจากใจและรู้สึกอบอุ่นใจ เป็นมิตร ชาวติมอร์ฯ นิยมแนะนำตัวเองในขณะที่สัมผัสมือ

การทักทายด้วยการสัมผัสมือนั้น พยายามใช้มือขวา เพราะมีคนไม่น้อยที่รังเกียจมือซ้าย ทั้งนี้รวมถึงการยกอาหารให้ชาวติมอร์ฯ หรือการรับอาหารจากชาวติมอร์ฯ หรือแม้แต่การทานอาหารร่วมกับชาวติมอร์ฯ หากจะใช้มือซ้ายมักขอโทษผู้ที่อยู่ร่วมก่อนด้วย

ชาวติมอร์ฯ ที่เป็นคนในครอบครัวเดียวกัน หรือเป็นเพื่อนสนิทกันมักทักทายด้วยการสัมผัสแก้มกัน ทั้งระหว่างหญิงกับหญิง และชายกับหญิง แต่ชาวต่างชาติที่เป็นคนนอกควรระมัดระวัง ไม่สัมผัสแก้มในการพบกันครั้งแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเพศตรงข้าม สำหรับการทักทายเพศตรงข้ามนั้น การทักกับหญิงติมอร์ฯด้วยการพยักหน้าและยิ้มให้ ถือว่าพอเพียงแล้ว หรือหากจะสัมผัสมือเบาๆ ก็ถือว่าสุภาพ

ชาวติมอร์ฯ เหมือนชาวเอเชียทั่วไป คือหากคนเพศเดียวกันเดินจูงมือหรือเกาะแขนกัน ไม่ได้เป็นพฤติกรรมแสดงว่าเป็นกิ๊ก- เป็นเกย์ แต่เป็นการแสดงถึงความสนิทสนมของคนทั้งสองเท่านั้น

รอให้เจ้าของบ้านเชิญ จึงค่อยนั่ง- กินหรือดื่ม แม้ว่าเมื่อเดินทางไปถึงจะไม่หิว แต่เมื่อได้รับเชิญจากเจ้าบ้านควรทานเล็กน้อยพอเป็นพิธี ไม่ควรปฏิเสธเสียทีเดียวถือเป็นการเสียมารยาท

การใช้นิ้วชี้ชี้ไปที่ใครคนหนึ่งถือเป็นกิริยาไม่สุภาพ หยาบคาย หากจำเป็นควรผายมือไปทางคนนั้นแทนการชี้

คนสูงอายุในชนบทนิยมพยักหน้าทักทาย ซึ่งถือว่าเป็นการแสดงความเคารพผู้ที่ทักด้วย จึงควรแสดงการทักทายตอบอย่างนอบน้อมด้วย และชาวติมอร์ฯ ถือว่าศีรษะเป็นของสูง ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสศีรษะของคนสูงอายุ

ของฝากที่นิยมถือติดมือไปฝากเจ้าบ้านเมื่อไปเยี่ยมคือบุหรี่ หากเป็นคนสูบบุหรี่อยู่แล้วการนำบุหรี่ออกมาเสนอให้เจ้าบ้านสูบด้วยเป็น มารยาทที่พึงกระทำ และเมื่อเสนอให้ทุกคนสูบแล้วก็วางซองบุหรี่ไว้ที่นั่นด้วยเมื่อลากลับก็ไม่ ต้องหยิบกลับ ไม่ถือว่าลืม แต่เป็นวิธีปฏิบัติที่ผู้ชายที่นี่ทำกัน ผู้ชายติมอร์ฯเกือบทุกคนสูบบุหรี่ ขณะที่ผู้หญิงแทบไม่มีใครสูบบุหรี่ บุหรี่ที่นิยมสูบทั่วไปในติมอร์ฯ เป็นบุหรี่จากอินโดนีเซีย ราคาซองละ 1 ดอลลาร์
 

ความปลอดภัยด้านการจราจร:

การจราจรในติมอร์ฯ รถยนต์จะวิ่งด้านซ้าย และพวงมาลัยรถจะอยู่ด้านขวามือ มีสัญญาณไฟจราจรตามแยกต่างๆในกรุงดิลี แต่ในวันที่ไฟฟ้าดับต้องใช้ความระวัดระวังในการขับยานพาหนะ

การขับรถยนต์ในต่างจังหวัดในพื้นที่ภูเขาสูงขณะที่ฝนตกเป็นการเสี่ยงอันตราย เนื่องจากในติมอร์ฯดินบนภูเขามักถล่มลงมาเมื่อเกิดฝนตกหนัก ทำให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะอาจได้รับอันตรายทั้งจากดินถล่ม และหินก้อนโตบนไหล่เขากลิ้งลงมาทับรถ

ปัจจุบัน กรมการขนส่งติมอร์ฯ ยอมรับใบขับขี่ต่างชาติ โดยหากนำใบขับขี่ไปแปลเป็นภาษาอังกฤษและรับรองเอกสารโดยสถานทูต ทางการติมอร์ฯ จะออกใบขับขี่ของติมอร์ฯ ให้
 

อาหารการกิน และข้อควรระวังด้านสาธารณสุข:
อาหารอินโดนีเซียเป็นอาหารราคาถูกที่หาได้ทั่วไปในกรุงดิลี หากประสงค์จะทานควรเลือกร้านที่มีคนเข้าไปทาน และการจัดวางอาหารภายในร้านสะอาดถูกสุขอนามัย ไม่มีแมลงวันตอม บางร้านจะแถมน้ำเปล่าให้ลูกค้าดื่ม ควรหลีกเลี่ยงและสั่งน้ำบรรจุขวดมาดื่มแทน เพราะน้ำที่นำมาให้ดื่มมักเป็นน้ำประปาที่ยังไม่ได้ต้ม

ในระหว่างที่พำนักอยู่ในกรุงดิลี ควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำจากก๊อกน้ำที่ยังไม่ได้ต้ม และซื้อน้ำบรรจุขวดดื่ม

โรคบิดมีตัว หรือ บิดอะมีบา จัดเป็นโรคประจำถิ่นในติมอร์ฯ