คนไทยในต่างประเทศ
คนไทยในต่างประเทศ
แผนช่วยเหลือ/อพยพคนไทยในติมอร์-เลสเต ปี 2560
ปัจจุบัน มีคนไทยพำนักอยู่ในติมอร์ฯ ประมาณ 40 คน โดยกรณีการอพยพ ได้แก่
1. กรณีเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว
2. กรณีสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมือง
3. กรณีเกิดโรคระบาดร้ายแรง
หน่วยงานที่ต้องประสานความร่วมมือ
1. สถานเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำติมอร์ฯ โดยในกรณีเกิดเหตุการณ์รุนแรงนั้น สถานเอกอัครราชทูตฯ จะประสานกับสถานเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำติมอร์ฯ เพื่อขอให้รับคนไทยออกไปจากติมอร์ฯ พร้อมกับชาวอินโดนีเซียและคนชาติอาเซียนอื่นๆ ที่ประสงค์จะอพยพ ซึ่งสถานเอกอัครราชทูต อินโดนีเซียประจำติมอร์ฯ ได้เตรียมแผนอพยพไว้ 2 ทาง คือ การจัดเครื่องบินพิเศษจากอินโดนีเซีย หรือส่งเรือไปรับ เนื่องจากอินโดนีเซียมีเขตแดนติดกับติมอร์ฯ ทั้งทางบกและทางทะเล
2. คนไทยและหัวหน้ากลุ่มคนไทยในติมอร์ฯ
3. กระทรวงการต่างประเทศ
4. สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา
จุดนัดพบและสถานที่ปลอดภัย
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงดิลี
สถานที่อพยพ
สนามบินกรุงดิลี หรือท่าเรือกรุงดิลี
ขั้นเตรียมการ
1. รวบรวมข้อมูลของคนไทย เช่น ที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ติดต่อให้มีความปัจจุบันมากที่สุด
2. ซักซ้อมความเข้าใจกับคนไทยเรื่องแนวทางการให้ความช่วยเหลือ/อพยพ
3. ประสานกับสถานเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำติมอร์ฯ และเจ้าหน้าที่ประจำสถานที่อพยพ
4. ประสานกับกระทรวงการต่างประเทศและสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา
ขั้นปฏิบัติ
ขั้นที่ 1 สถานการณ์ที่มีแนวโน้มจะเกิดความรุนแรง
1. สถานเอกอัครราชทูตฯ วิเคราะห์สถานการณ์ที่มีแนวโน้มจะเกิดความรุนแรงจากข้อมูลข่าวสารต่างๆ และแจ้งเตือนไปยังคนไทยที่จะมายังประเทศติมอร์ฯ
2. รายงานสถานการณ์แนวโน้มของความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นให้กระทรวงฯ ทราบทันที เพื่อแจ้งงดการเดินทางของคนไทยที่จะมายังประเทศติมอร์ฯ
3. ประสานสถานเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำติมอร์ฯ เรื่องแผนการอพยพคนไทยร่วมกับคนชาติอินโดนีเซียและอาเซียนอื่นๆ
4. ให้กระทรวงการต่างประเทศประสานกับกระทรวงกลาโหมและกองบัญชากองทัพไทยเพื่อจัดเตรียมเครื่องบินอพยพคนไทย ในกรณีที่ไม่สามารถใช้เครื่องบินหรือเรือของสถานเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำติมอร์ฯ
5. จัดเตรียมอาหาร น้ำดื่ม และยา ไว้สำหรับคนไทย
ขั้นที่ 2 สถานการณ์เริ่มทวีความรุนแรง
1. หากสถานเอกอัครราชทูตฯ วิเคราะห์แล้วว่า สถานการณ์ทวีความรุนแรงขึ้น จะแจ้งเตือนไปยังคนไทยให้เตรียมการอพยพถ้าจำเป็น โดยให้มารวมกันที่จุดนัดพบ คือ สถานเอกอัครราชทูตฯ โดยแจ้งให้ทุกคนนำหนังสือเดินทาง/เอกสารแสดงตน และกระเป๋า สิ่งของมีค่าติดตัวไปตามความจำเป็น
2. รายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้กระทรวงฯ ทราบ และอนุมัติการอพยพคนไทย
3. ประสานตำรวจเพื่อสนับสนุนการอารักขาเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตฯ และคนไทย ตลอดจนประสานสถานเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำติมอร์ฯ และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา
4. เคลื่อนย้ายคนไทยจากสถานเอกอัครราชทูตฯ ไปยังสถานที่อพยพ โดยประสานกับสถานเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำติมอร์ฯ
5. ในกรณีที่ไม่สามารถใช้เครื่องบินหรือเรือของสถานเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำติมอร์ฯ สถานเอกอัครราชทูตฯ จะขอให้กระทรวงต่างประเทศประสานงานไปยังกระทรวงกลาโหม เพื่อส่งกำลังทหารมารับคนไทยกลับประเทศไทย
6. ขอให้กระทรวงการต่างประเทศประสานเจ้าหน้าที่สนามบินปลายทางในประเทศไทย เพื่อเตรียมการเรื่องการตรวจคนเข้าเมืองและตรวจเอกสารของคนไทยที่อพยพ รวมทั้งเตรียมเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์และรถพยาบาล มารับผู้บาดเจ็บที่อาจจะเกิดขึ้นจากการอพยพ
ขั้นที่ 3 สถานการณ์เริ่มมีความรุนแรงจนไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้
1. หากสถานเอกอัครราชทูตฯ วิเคราะห์สถานการณ์แล้วว่า มีความรุนแรงมาก สถานเอกอัครราชทูตฯ จะดำเนินการแจ้งกระทรวงการต่างประเทศทราบ และประสานงานกับสถานเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำติมอร์ฯ และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา
2. ดำเนินการอพยพตามแนวทางที่วางไว้
3. สถานเอกอัครราชทูตฯ สำรวจจำนวนคนไทยที่เดินทางมายังจุดนัดพบและอพยพ แล้วรายงานกลับมายังประเทศไทย
4. เอกอัครราชทูต จะเป็นผู้สั่งการในการออกเดินทาง และรายงานการอพยพต่อปลัดกระทรวง
การดำเนินการปิดที่ทำการสถานเอกอัครราชทูตฯ (หากจำเป็น)
1. ประสานกระทรวงฯ เรื่องการขนย้ายและทำลายเอกสารสำคัญทางราชการ
2. หากมีความปลอดภัยเพียงพอสำหรับลูกจ้างท้องถิ่น ให้มอบหมายให้ลูกจ้างท้องถิ่นของสถานเอกอัครราชทูตฯ ปฏิบัติหน้าที่เฝ้ารักษาความปลอดภัยสถานเอกอัครราชทูตฯ (ภายนอกอาคาร) และขอให้กระทรวงการต่างประเทศติมอร์ฯ จัดเจ้าหน้าที่มารักษาความปลอดภัยสถานเอกอัครราชทูตฯ ส่วนคนอื่นๆ ให้หยุดการปฏิบัติหน้าที่ไว้จนกว่าจะได้รับการสั่งการ
*หมายเลขโทรศัพท์ Hotline ของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงดิลี*
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงดิลี ได้ตั้งหมายเลขโทรศัพท์ Hotline ที่เปิด 24 ชั่วโมง หรือหมายเลขฉุกเฉิน เพื่อให้ความช่วยเหลือคนไทยในติมอร์ฯ ได้แก่ หมายเลขโทรศัพท์ +670 7872 6892
************************************************************************************************************
แนวทางการปฏิบัติสำหรับคนไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศติมอร์-เลสเต
ขั้นเตรียมการ (ภาวะปกติ)
1. แจ้งที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้ตลอดเวลา เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงให้แจ้งที่หมายเลข 331 0609 หรือ +670 7872 6892
2. เตรียมชุดเอกสารการเดินทางให้พร้อมอยู่เสมอ สามารถเดินทางได้ทันทีหากจำเป็นหนังสือเดินทางต้องมีอายุการใช้งานไม่น้อยกว่า 6 เดือน ควรหมั่นตรวจสอบและทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่ที่สถานเอกอัครราชทูตฯ (ใช้เวลารับเล่มราว 3 สัปดาห์)
3. สื่อสารและแลกเปลี่ยนข่าวสารระหว่างคนไทยด้วยกันและสถานเอกอัครราชทูตฯ อย่างสม่ำเสมอ
4. รับฟังข้อมูลข่าวสารต่างๆ เป็นประจำ
ขั้นปฏิบัติ
ขั้นที่1 สถานการณ์ที่มีแนวโน้มจะเกิดความรุนแรง
1. รับฟังข้อมูลข่าวสารจากสถานเอกอัครราชทูตฯ โดยปฏิบัติตามแนวทางในขั้นเตรียมการ
2. เตรียมชุดเอกสารการเดินทางให้พร้อมอยู่กับตัวตลอดเวลา พร้อมเดินทางหากจำเป็น
3. อยู่ในสถานที่ปลอดภัย เก็บเสบียงและเชื้อเพลิงให้พร้อมในยามจำเป็น
4. ติดต่อสื่อสารเรื่องสถานการณ์กับคนไทยและสถานเอกอัครราชทูตฯ อย่างสม่ำเสมอ
ขั้นที่ 2 สถานการณ์เริ่มมีความรุนแรง
1. โทรศัพท์มือถือต้องสามารถติดต่อได้ตลอดเวลา เพื่อรับฟังข้อมูลจากสถานเอกอัครราชทูตในการอพยพไปยังจุดนัดพบที่กำหนดไว้
2. นำชุดเอกสารการเดินทางติดตัวตลอด เพื่อสะดวกในการตรวจสอบรายชื่อ
3. นำเสื้อผ้าและสิ่งของไปเพียงพอต่อการเดินทางอพยพฉุกเฉินเท่านั้น ไม่อนุญาตให้เอาสิ่งของที่เกินความจำเป็น เพราะจะเป็นภาระในการเดินทาง และเพื่อให้การอพยพเป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็ว
ขั้นที่ 3 สถานการณ์รุนแรงจนรัฐบาลติมอร์ไม่สามารถควบคุมไว้ได้
ปฏิบัติตามแนวทางของสถานเอกอัครราชทูตฯ อย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน